หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ผึ้ง มือระนาดเอก บางประทุนนอก ไปออกรายการซุปเปอร์เท็น


ได้รับเชิญให้ไปบรรเลงในพิธีไหว้ครูดนตรีไทย 24 พ.ย.02561










เพลงหงส์ทองมอญ ชมรมดนตรีไทยโรงเรียนวัดบางประทุนนอก


เพลงจีนตอกไม้ เครื่องมอญ ชมรมดนตรีไทยโรงเรียนวัดบางประทุนนอก



วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2561

การศึกษา

การศึกษา
          - ประถมศึกษา  โรงเรียนวรวุฒิวิทยาลัย
          - มัธยมศึกษา   โรงเรียนเบญจมราชาลัย
                             โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์
                             โรงเรียนสตรีวัดระฆัง
          - ปริญญาตรี    หลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิต
                             วิทยาลัยครูสวนสุนันทา (มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา)
          การศึกษาวิชาสามัญตั้งแต่ระดับประถมจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นเป็นไปตามปรกติวิสัยกุลสตรีไทยทั่วไป  ต่อภายหลังบิดาถึงแก่กรรมมีภาระทางครอบครัวและใช้เวลาไปกับการหาความรู้เร่งต่อเพลงขับร้องกับครูผู้เป็นญาติผู้ใหญ่ในบ้านบางลำพู ครูผู้รู้นอกบ้านทุกสำนักไม่ว่าจะอาวุโสหรืออยู่ในวัยไล่เรียงกันนำมาให้มารดาช่วยขัดเกลา ควบคู่กันไปกับการใช้เวลามุมานะฝึกฝนปรับปรุงทางร้องอยู่ทุกคืนวัน  มุ่งหวังเอาดีให้ได้และต้องเก่งกาจมากพอทำทางร้องเฉพาะตนขึ้นใช้ได้เองในที่สุด  เป็นเหตุให้การเรียนวิชาสามัญไม่ต่อเนื่องเท่าที่ควรจะเป็นนัก
          อย่างไรก็ตาม เมื่ออุปสรรคหลายประการคลี่คลายไปพอสมควรแล้ว อุปนิสัยชอบไขว่คว้าหาความรู้และมีใจสู้ก็ค่อยผลักดันให้หันกลับมามองความสำคัญของการศึกษาวิชาสามัญ  สมัครเข้าเรียนต่อตามลำดับชั้นจนกระทั่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีได้แม้มีอายุถึง ๔๗ ปี แต่ก็มีความภาคภูมิใจยิ่ง
          สาระน่ารู้ทางการศึกษาเล่าเรียนของครูดวงเนตรเป็นแบบอย่างอันดีงามถึงความพยายามและมีใจตั้งมั่นต่อสู้ให้ได้สิ่งปรารถนาซึ่งมาพร้อมอุปสรรคที่วัดใจให้ต้องฟันฝ่าจนกว่าจะเดินผ่านไปสู่ความสำเร็จได้
          ข้อความดังต่อไปนี้เป็นเรื่องราวอัตชีวประวัติจากปากคำของครูดวงเนตรเอง เป็นส่วนใหญ่  และคำบอกเล่าของบุพการี ญาติพี่น้อง ผู้อยู่ในเหตุการณ์ จะดำเนินไปพร้อมๆ กัน ระหว่างการศึกษาวิชาสามัญกับการเรียนขับร้องบรรเลงดนตรีที่ต้องต่อสู้ควบคู่กันไป
          ปี ๒๔๙๑ ครูดวงเนตรเริ่มเรียนเตรียมประถม  ปี ๒๔๙๒ เรียนต่อประถมศึกษาที่ *โรงเรียนวรวุฒิวิทยาลัย เช่นเดียวกับลูกๆ ครูเหนี่ยวทั้ง ๖ คน โดยตามหลังพี่สาวและพี่ชายเข้าไปเป็นคนที่ ๓ เนื่องจากบิดาคุ้นเคยกับท่านเจ้าของโรงเรียนและมีที่ตั้งอยู่ห่างจากบ้านพักอาศัยไม่กี่ร้อยเมตร (เลขที่ ๑๐ ถนนพระอาทิตย์ ปัจจุบันเป็นเกสเฮ้าส์ เยื้องที่ทำการยูนิเซฟ ใกล้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า)
--------------------
*ชื่อโรงเรียนวรวุฒิวิทยาลัยใช้พระนามพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวุฒิอาภรณ์ราชกุมาร พระโอรสองค์ที่ ๑๕ ในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ  มีหม่อมเจ้าหญิงสุนทรธิดา วรวุฒิ พระธิดาองค์ที่ ๘ ในพระองค์เจ้าวรวุฒิฯ เป็นผู้บริหาร,  ปี ๒๕๐๒ ท่านผู้หญิงยศวดี อัมพรไพศาล ภริยา หลวงอัมพรไพศาล ซื้อกิจการและเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนอัมพรไพศาล มีพัฒนาเรื่อยมาและมีนักเรียนเพิ่มมากขึ้นจนต้องขยายกิจการและย้ายไปเปิดโรงเรียนแห่งใหม่ที่ถนนติวานนท์ในปี ๒๕๑๕ (โรงเรียนวรวุฒิวิทยาลัย ปัจจุบันใชทำธุรกิจท่องเที่ยว ไม่เหลือร่องรอยเดิมให้เห็น)

          ขณะเรียนชั้นประถมได้เรียนขับร้องครั้งแรกเป็นเพลงบังคับในประมวลการสอนกับครูชม รุ่งเรือง น้าสาวซึ่งเป็นครูสอนร้องที่โรงเรียนวรวุฒิวิทยาลัย ระหว่างปี ๒๔๙๓-๒๔๙๖ ช่วงเวลาเดียวกัน
          “..ตอนอยู่ประถมไม่สนใจจำเพลงที่เรียนเลย เหมือนเด็กคนอื่นๆ ที่เอาแค่สอบได้ ..ก็ติดหูอยู่มั่ง โตในบ้านปี่พาทย์นี่นะ..”
          หลังจบประถม ๔ เข้าเรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ ๑ ที่โรงเรียนเบญจมราชาลัย เสาชิงช้า สมัยอาจารย์ผจงวาด วายวานนท์ เป็นผู้อำนวยการ ตามหลังครูสุรางค์พี่สาวเข้าไป ๒ ปี ก็ยังคงเรียนขับร้องผ่านๆ อย่างเคย  ไม่ได้ถูกเคี่ยวเข็ญเอาเด่นดังทางแข่งขันเช่นพี่สาวซึ่งกำลังกวาดรางวัลชนะเลิศประกวดขับร้องเพลงไทยระดับมัธยมติดต่อกันเป็นว่าเล่นหลายงานแล้ว  ทั้งพ่อแม่ก็มิได้ส่งเสริมหรือห้ามปรามแต่อย่างใด ทำให้มีอิสระที่จะสนุกสนานไปกับการเรียนรู้โลกรอบตัวประสาวัยรุ่นทั่วไปที่มักจะเลือกสนใจตามกระแสนิยมฝรั่งตะวันตกที่ฟังผ่านสื่อวิทยุกระจายเสียงหรือดูภาพยนตร์ที่นำเข้ามาฉายในประเทศไทยสมัยนั้นเท่านั้น
          ช่วงชีวิตเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นนี้แทนที่เสียงขับร้องบรรเลงเพลงไทยที่ดังกรอกหูอยู่ทุกคืนวันจะจูงใจให้หัดร้องเหมือนญาติพี่น้องคนอื่นๆ  แต่กลับใช้ชีวิตวัยใสผ่อนคลายกับเม้าธ์ออร์แกนตัวโปรด ร้องเพลงฝรั่งที่กำลังฟุ้งเฟื่องเมืองไทยในยุคฟิฟตี้อย่าง sad movie ของ Sue Thompson หรือ que sera sera ของ Doris Day  ถึงขนาดหาญกล้าสวมกระโปรงสุ่มไก่ขึ้นเวทีร้องเพลงดังให้วงดนตรี ยุวศิลป์ ยุคมีนายบุญเกิด ทองประยูร เป็นหัวหน้าวง ตามคำชักชวนของพี่สาวที่ขึ้นร้องเพลงรวงทองของคณะสุนทราภรณ์ยอดนิยมอยู่ด้วย จนกระทั่ง Elvis Presley แสดงหนังเรื่องแรกร้องเพลง love me tender ต่อด้วยหนังเพลงร็อกแอนด์โรลออกมาเขย่าวงการเพลงทั่วโลกถึงได้บดบังนักร้องสตรีจืดหูจางตาไป
          ไม่เพียงเท่านั้น ยังชอบที่จะขี่จักรยานขึ้นสะพานพุทธยอดฟ้าข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอ้อมไปย่านพรานนก สมัครเข้าเรียนร่ายรำศัสตราวุธฝึกตีกระบี่กระบองชนิดเอาดีให้ได้ที่ บ้านช่างหล่อ ร่วมค่ายกับพี่อี๊ด(ชนะ ดุริยพันธุ์) ขณะเรียนอยู่ที่โรงเรียนทวีธาภิเศก(วัดนาคกลาง) มีฝีไม้ลายมือพอออกแสดงร่วมกันหลายงาน

วันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

พี่น้อง ของแม่น้อยดวงเนตร

ชีวิตบางช่วงตอน
          ถึงแม้ครูดวงเนตรเริ่มฝึกหัดขับร้องเพลงไทยจริงจังเอาเมื่ออายุล่วงเข้า ๑๖ ปี แล้ว ซึ่งดูเหมือนจะออกตัวช้าไปไม่น้อยหากเปรียบกับพี่น้องเครือญาติในบ้านบางลำพูที่เริ่มต้นกันตั้งแต่ ๘-๙ ขวบ เหตุด้วยบิดามารดาไม่สนับสนุนหรือสอนร้องให้กับลูกๆ เพื่อยึดถือเอาการขับร้องเพลงไทยเป็นอาชีพเพราะเกรงจะเหนื่อยยากเช่นท่านอย่างหนึ่ง* และครูดวงเนตรนั้นหากรักชอบสิ่งใดแล้วจะมุ่งมั่นทำสิ่งนั้นให้ดีได้เสมอไปด้วยมีความเชื่อมั่นในตนเองสูงมากอีกอย่างหนึ่ง
*(ครูเหนี่ยว เว้นให้เฉพาะเด็กหญิงสุรางค์ ดุริยพันธุ์ พี่สาวผู้แก่กว่าครูดวงเนตร ๒ ปี ที่ดื้อรั้นหัดร้องมาแต่ ๙ ขวบ ด้วยมุ่งมั่นจะเอาชนะประกวดประขันตั้งแต่จบประถม ๔ ได้ไม่ทันไร)
ชีวิตวัยใส
          การใช้ชีวิตเมื่อเยาว์วัยก่อนบิดาถึงแก่กรรมอันเป็นจุดหักเหให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและหันมามุ่งเอาดีในอาชีพนักร้องเพลงไทยนั้นค่อนข้างจะสดใสโลดโผนไม่แพ้แคเรคเทอร์นางเอกประเปรียวในนวนิยายหรือภาพยนตร์ไทยสมัยนั้น
          นางดวงเนตร ดุริยพันธุ์ เกิดวันศุกร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๘ ปีเถาะ ตรงกับวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๘๒  ที่ “บ้านบางลำพู” เลขที่ ๘๓ ถนนลำพู(สามเสน๑) แขวงสามพระยา เขตพระนคร ที่ตั้งมูลนิธิดุริยประณีตปัจจุบัน (เดิมเป็นเรือนหมู่ ๓ หลัง ชั้นเดียว ยกพื้นสูงพ้นน้ำในคลองหน้าบ้าน)
          ปีที่เกิดค่อนข้างจำง่ายเพราะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นหลายประการ เช่น
          - เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒  เยอรมันบุกโปแลนด์
          - ญี่ปุ่นใช้นโยบายชาตินิยมก่อสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้นที่จีนและเกาหลี
          - รัฐบาลออกประกาศรัฐนิยม ๑๒ ฉบับ  เข้าสู่ยุคมืดการสังคีตไทย

          - รัฐสภามีมติเปลี่ยนชื่อประเทศสยามเป็น “ประเทศไทย” Thailand

ครูดวงเนตรเป็นบุตรี นายเหนี่ยว-นางแช่มช้อย ดุริยพันธุ์(ดุริยประณีต) ขณะรับราชการกองดุริยางคศิลป์  และเป็นครูสอนในโรงเรียนศิลปากร แผนกนาฏดุริยางค์  มีพี่น้องรวม ๖ คน คือ
๑. นางสาวสุรางค์ ดุริยพันธุ์       เกิดพุทธศักราช ๒๔๘๐
          ๒. นายชนะ ดุริยพันธุ์              เกิดพุทธศักราช ๒๔๘๑  (ถึงแก่กรรม)
          ๓. นางดวงเนตร ดุริยพันธุ์        เกิดพุทธศักราช ๒๔๘๒  (ถึงแก่กรรม)
          ๔. นายนฤพนธ์ ดุริยพันธุ์ เกิดพุทธศักราช ๒๔๘๓
          ๕. ร้อยตรีอนันต์ ดุริยพันธุ์        เกิดพุทธศักราช ๒๔๘๔
          ๖. นายพจนา ดุริยพันธุ์            เกิดพุทธศักราช ๒๔๘๙


วันพฤหัสบดีที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

หนังสืองานแม่น้อย 2

ปี ๒๕๕๐-๒๕๕๔  ราชบัณฑิตยสถาน แต่งตั้งเป็นบรรณาธิการในคณะบรรณาธิการจัดทำสารานุกรมศัพท์ดนตรีไทย(ภาคโน้ตเพลงไทย) ทำหน้าที่รวบรวมโน้ตเพลงไทยพร้อมทั้งปรับปรุงคำอธิบายประวัติและบทร้องให้ชัดเจนและเหมาะสมยิ่งขึ้น
          ระหว่างปี ๒๕๕๑-๒๕๕๓ เป็นบรรณาธิการในคณะบรรณาธิการพิจารณาเพลงละครร้องกว่า ๑,๒๐๐ เพลง ทำหน้าที่พิจารณาเพลงที่ได้จากแผ่นเสียงเก่า ฟังจากผู้ได้เพลงละครร้องขับร้องให้ฟัง มีความถูกต้องตามหลักวิชาการเพียงใด ยอมรับหรือต้องแก้ไขชำระแล้วถึงให้บันทึกโน้ตไว้
          และมีดำริจะพิจารณาทางร้องเพลงหุ่นกระบอกซึ่งครูดวงเนตรได้ไว้ทั้ง ๒ ทาง คือทางเพลงของ ครูลม่อม อิศรางกูร ณ อยุธยา ซึ่งคงแบบแผนทางร้องดั้งเดิมเน้นความไพเราะเพลิดเพลิน กับทางของครูชื้น(ชูศรี สกุลแก้ว)ผู้สืบทอดการละเล่นหุ่นกระบอก คณะนายเปียก ประเสริฐกุล ผู้บิดา ที่ผสมผสานทางร้องเพลงหุ่นกับการเชิดหุ่นกระบอกร่วมลีลาเดียวกันให้เกิดความสนุกสนานต้องใจผู้ชม  ซึ่งทั้ง ๒ ทางร้องดังกล่าวล้วนมีที่มาจาก แม่ครูเคลือบ ผู้เป็นต้นแบบหุ่นกระบอกเมืองกรุงสมัยรัชกาลที่ ๕ นาม คณะหุ่นกระบอกหม่อมราชวงศ์เถาะ พยัคฆเสนา อันเลื่องชื่อในทางแบบแผนความงดงาม
          ครูดวงเนตร ดุริยพันธุ์ มีชื่อเล่นว่า น้อย  ทำให้หลายๆ คนสนิทปากเรียกขานสมญาชื่อเล่นต่างกันไปสุดแต่ความเคารพรักหรือความรู้สึกในสัมพันธภาพที่มีต่อกันว่า ครูดวงเนตร ครูน้อย แม่ครูน้อย ครูย่าน้อย ยายน้อย  ส่วนบรรดาญาติสนิทศิษย์ใกล้ชิดแล้วจะติดปากเรียก แม่น้อย กันเกือบทั้งสิ้น

          ต่อนี้ไปจึงจะขอเรียก ครูดวงเนตร บ้าง แม่น้อย บ้าง ตามแต่เรื่องราวที่เล่าเป็นทางการ หรือค่อนข้างจะส่วนตัวสำหรับการนำเสนอเบื้องหลังชีวิตต้องสู้ของนักร้องเพลงไทยคนหนึ่งซึ่งฟันฝ่าขวากหนามหาที่ยืนในวังวนวงการสังคีตไทยให้มั่นคงอยู่ได้สมภาคภูมิ
ครูดวงเนตรเป็นคนขยันในวิชาชีพชนิดหาคนเปรียบยาก อยากเรียนรู้สิ่งใดจะเดินหน้าเสาะหาไขว่คว้าจนกว่าได้รู้มาไม่ว่าจะยากแค้นแสนเข็ญเพียงใด  รู้แล้วก็ยังไม่ยอมหยุดนิ่ง ค้นคว้าหาใหม่สะสมเรื่อยไป ไม่ว่าสิ่งที่ได้มาจะด้อยหรือดีกว่าเดิม เก็บอัดแน่นไว้กับหน่วยความจำในสมองพร้อมเรียกออกมาใช้ได้แม่นยำทันทีทันใดเสมอ
          จึงไม่แปลกอะไรที่ครูดวงเนตรจะได้รับฉายาต่างๆ นานาเช่น ขุมคลังเพลงเก่า เจ้าแม่เพลงละคร ครูน้อยพันเถา พุ่มพวงน้อย หุ่นกระบอกแม่น้อย ประมาณนี้

วันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2561

หนังสืองานแม่น้อย ดวงเนตร เขียนโดย น้าตั๋ง พจนา ดุริยพันธ์ 1

แม่น้อย
ดวงเนตร ดุริยพันธุ์


          ครูดวงเนตร ดุริยพันธุ์ นักร้องเพลงไทยผู้ได้ชื่อว่ามีกระแสเสียงกังวานสดใสและมีลีลาทางร้องไพเราะชวนฟังเป็นเอกลักษณ์  เป็นครูผู้รู้ผู้ได้เพลงขับร้องไว้มากมายทุกชนิดประเภท ทั้งเพลงเก่าโบราณ และเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ กับเป็นผู้เชี่ยวชาญการใช้ทักษะสร้างสรรค์งานขับร้องเพลงไทยได้ทุกเงื่อนไขความมุ่งหมาย และได้เผยแพร่ผลงานเพลงร้องฝากไว้ในแผ่นดินยิ่งกว่าผู้ใดตลอดช่วงชีวิต ๖๐ ปี ที่เป็นนักร้องอาชีพ

ครูดวงเนตรขับร้องไว้ทั้งเพลงตับ เพลงเกร็ด ๒ ชั้น ๓ ชั้น เพลงเถา ชนิดฟังความไพเราะเพลิดเพลินกับวงเครื่องสายผสม วงมโหรี วงปี่พาทย์ ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่นิยมยอมรับและขอให้ร่วมงานขับร้องนับสิบคณะ กับขับร้องเพลงเสภาประชันให้วงบ้านบางลำพูต่อเนื่องมาจนได้โอนย้ายเข้ารับราชการเป็นนักร้องประจำแผนกดุริยางค์ไทย กองการสังคีต กรมศิลปากร ออกแสดงผลงานขับร้องเพลงโขน ละคร หุ่นกระบอกให้ต้นสังกัดและองค์กรการศึกษาตลอดมา กระทั่งเกษียณอายุในตำแหน่งคีตศิลปิน ระดับ ๗ ต่อเนื่องด้วยผู้เชี่ยวชาญดุริยางคศิลป์อีกกว่าสิบปี
          ครูดวงเนตรมีภูมิความรู้และทักษะขับร้องเพลงไทยในระดับสูงที่หาผู้เทียบเคียงได้น้อยคน  มีความเชี่ยวชาญปรับสำเนียงทางร้องให้เข้ากับลักษณะการแสดงได้ทุกชนิด ทั้งจดจำเพลงไทยทุกประเภทไว้ได้มากมายแม่นยำน่าอัศจรรย์  อันเปรียบได้กับคลังสมองบันทึกเพลงขับร้องเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมไว้ตลอดอายุขัย  ทั้งเพลงเกร็ด ๒ ชั้น ๓ ชั้น เพลงเถา ทุกทางทุกสำนักครู ตับเรื่อง ตับเพลง เพลงโขนละคร เพลงละครร้อง หุ่นกระบอก ล่วงเลยไปถึงเพลงมอญเพลงเสภาที่ทำกันขึ้นมาใหม่สำหรับใช้ประชันวงยังหาได้พ้นพยายามเก็บเกี่ยวหามาไว้กับตนไม่
          ภูมิความรู้และทักษะขับร้องเพลงไทยของครูดวงเนตรเป็นที่รู้กันดีทั้งในวงการและกว้างขวางสู่ภายนอก ทำให้ได้รับเชื้อเชิญเข้าร่วมกิจกรรมในทางอนุรักษ์และเผยแพร่งานคีตศิลป์ไทยให้กับองค์กรเอกชนและส่วนราชการตลอดมาโดยมิเคยคำนึงถึงผลตอบแทนอย่างใด  ครูดวงเนตรได้สร้างผลงานบั้นปลายชีวิตขณะยังดำรงฐานะผู้เชี่ยวชาญดุริยางค์ไทย กรมศิลปากร ไว้มากหลาย เช่น รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษสอนทักษะขับร้องเพลงไทยให้กับสถาบันการศึกษาทุกระดับ
          ร่วมงานกับครูชื้น(ชูศรี สกุลแก้ว) ศิลปินแห่งชาติ ผู้เป็นครูสอนเชิดหุ่นกระบอกออกงานแสดงด้วยกันบ่อยครั้ง เป็นวิทยากรสาธิตการขับร้องร่วมการแสดงหุ่นกระบอกด้วยตนเองหรือร่วมมือกับองค์กรเอกชนและศิษย์ครูชื้นออกเผยแพร่ทั่วประเทศ  ทั้งได้ทำหน้าที่สนับสนุนช่วยเหลือให้คำปรึกษาแก่สถาบันการศึกษาที่ส่งเสริมการดนตรีไทย  และรับเชิญให้ขับร้องในงานแสดงมุทิตาจิตครูดุริยางค์ไทยอาวุโสหรือศิลปินแห่งชาติมากมายหลายท่าน เป็นต้น

ขลุ่ยเพียงออ เพลงข้างขึ้นเดือนหงาย ร.ร.วัดบางประทุนนอก