หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ครูเตือน พาทยกุล เป็นบุคคลผู้ได้รับการยกย่องว่า เป็นศิลปินที่มีความสามารถด้านดนตรีไทยเป็นเลิศโดยเฉพาะในทางปี่พาทย์นั้น นับได้ว่าเป็นผู้มีความสามารถสูงสุดคนหนึ่ง ครูเตือน พาทยกุล มีความเชี่ยวชาญในการบรรเลงดนตรีไทยได้รอบวง สามารถบรรเลงเพลงเดี่ยวเครื่องดนตรีได้หลายชนิด ทั้งระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก และซอสามสาย จนปรากฏลือเลื่องไปหลายวงการ โดยท่านถนัดทางระนาดเอกมากที่สุด ครูเตือนได้รับมอบให้ทำพิธีไหว้ครูจากปู่และเจ้ากรมจันทร์ ซึ่งเป็นครูปี่พาทย์วงบ้านหม้อ นอกจากนี้ ท่านยังได้ร่วมกับนายปุ่น คงศรีวิไล ตั้งวงปี่พาทย์ขึ้นที่บ้านจังหวัดนนทบุรี นับเป็นวงที่มีชื่อเสียงมากที่สุดวงหนึ่ง
ครูเตือนเป็นครูสอนวงปี่พาทย์บางประทุนของนายชุน

ส่วนสิ่งที่ถือเป็นความสามารถพิเศษอีกอย่างหนึ่งของครูเตือนก็คือ การประดิษฐ์เครื่องดนตรีไทยขนาดเล็กได้เป็นคนแรก โดยย่อส่วนจากขนาดมาตรฐานให้มีขนาดเล็กแต่ยังคงเหมือนจริงทุกประการ อีกทั้งสามารถบรรเลงได้เหมือนเครื่องดนตรีขนาดมาตรฐาน
อาจารย์บำรุง พาทยกุล หนึ่งในทายาทของครูเตือน พาทยกุล เล่าถึงการประดิษฐ์เครื่องดนตรีไทยย่อส่วนของครูเตือนว่า “....เหตุการณ์ที่ทำให้คุณพ่อเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีผู้ชายคนหนึ่งมาที่บ้านบอกว่า เสด็จพระองค์ชายใหญ่


                                     พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล

คือพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ให้มาตามคุณพ่อไปพบท่าน เพื่อไปดูเครื่องดนตรีเก่าๆของท่านหน่อย พระองค์ท่านอยากจะซ่อม เพราะทรงสะสมเครื่องดนตรีเก่าๆ ไว้เยอะหลังจากนั้นคุณพ่อก็จะเข้าไปทำงานให้พระองค์ท่านเป็นประจำมีอยู่วันหนึ่งพระองค์ท่านทรงดำริว่าเครื่องดนตรีใหญ่ๆ เอาไปเมืองนอกลำบากเราจะหาวิธีแก้ปัญหานี้อย่างไรดี คุณพ่อก็นึกได้ว่า เมื่อครั้งที่อยู่เพชรบุรีคุณพ่อเคยจำลองตะโพนขนาดใหญ่ให้เหลือเล็กๆ แล้วเอาขึ้นไปบนหิ้งบูชาเพราะตามความเชื่อของนักดนตรีไทย ตะโพนเป็นสิ่งสมมุติแทนองค์พระปรคนธรรพเป็นเทพแห่งดนตรีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งองค์หนึ่ง พ่อจึงเรียนท่านว่าทำได้พระองค์ชายใหญ่ก็ทรงออกทุนทรัพย์ให้...
หลังจากนั้นมาครูเตือนก็มาคิดและค่อยๆ ประดิษฐ์เครื่องดนตรีย่อส่วนขึ้นมาทีละชิ้นจนครบทั้งวง โดยใช้เวลาทั้งหมดเกือบ ๒ ปี ถัดมาพระองค์ชายใหญ่ก็ทรงหารายการทีวีให้ออกแสดง ในวันรุ่งขึ้น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้กล่าวชมเชยฝีมือการประดิษฐ์เครื่องดนตรีย่อส่วนของครูเตือนผ่านทางหนังสือพิมพ์สยามรัฐในยุคนั้น ส่งผลให้ชื่อเสียงของครูเตือน พาทยกุล เป็นที่รู้จักในวงกว้างนับแต่นั้นมา
ครูเตือนเคยนำเครื่องดนตรีไทยย่อส่วนออกบรรเลงถวายหน้าพระที่นั่งประทับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์จนทำให้ครูเตือนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น